นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP)

วันที่ 28 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาทิสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) สำนักงานประกันสังคม(สปส.) กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง สมาคมโรงพยาบาลเอกชน วิทยาลัยแพทย์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย ได้ร่วมแถลงข่าว“นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP) หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เรื่อง “หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต”

  1. UCEP คืออะไร UCEP คือ นโยบายรัฐบาล “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” Universal Coverage for Emergency Patients (UCEP) กรณีเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนนอกคู่สัญญา 3 กองทุน(กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า, กองทุนประกันสังคม กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ) และในอนาคตจะขยายไปยังกองทุนต่างๆ เพื่อให้เกิดความครอบคลุม ไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตอันจะทําให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตได้รับ การคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงบริการ อย่างปลอดภัยโดยไม่มีเงื่อนไขในการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาล เพื่อให้ไม่เป็นอุปสรรคและความเสี่ยงของการดูแลรักษา โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายภายใน 72 ชั่วโมงหรือพ้นภาวะวิกฤต
  2. ใครบ้างที่ใช้สิทธินี้ได้ ผู้ที่จะใช้สิทธินี้ได้ต้อง เป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน ในพื้นที่ที่อยู่ใกล้และเป็นโรงพยาบาลเอกชนนอกคู่สัญญากับกองทุนที่ผู้ป่วยมีสิทธิ์ โดยเริ่มที่สามกองทุนก่อน คือ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ,กองทุนประกันสังคม,กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ
  3. เจ็บป่วยฉุกเฉินแค่ไหนถึงจะใช้สิทธิUCEP ได้ ผู้ที่จะใช้สิทธินี้ได้ต้องเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ตามหลักเกณฑ์การคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉิน ที่ กพฉ.ประกาศกำหนด และ รายละเอียดเกณฑ์การคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ที่ สพฉ. กำหนดกรณีกลุ่มอาการฉุกเฉินวิกฤต คือ หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือมีอาการชักร่วม เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัด แบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด หรือมีอาการอื่นร่วม ที่มีผลต่อการหายใจระบบการไหลเวียนโลหิตและระบบสมองที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต
  4. ขั้นตอนในการใช่สิทธิ์ UCEP เป็นอย่างไร ประชาชนทุกคนควรตรวจสอบสิทธิพื้นฐานการรักษาพยาบาลของตนเองในเบื้องต้นว่าเป็นสิทธิอะไร เช่น สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า, สิทธิประกันสังคม สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ หรือหากไม่ทราบ ให้ทำการขอตรวจสอบสิทธิ ณ รพ.ทุกแห่ง หรือ สำนักงานเขตภายในกรุงเทพมหานคร กรณีเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนในพื้นที่ ที่อยู่ใกล้ และเป็นโรงพยาบาลนอกคู่สัญญากับกองทุนที่ผู้ป่วยมีสิทธิให้แจ้ง รพ.ให้รับทราบว่าขอใช้สิทธิUCEP โรงพยาบาลดำเนินการประเมินผู้ป่วยตามแนวทางทีสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกำหนด(Preauthorization)ในกรณีมีปัญหาในการคัดแยกให้ปรึกษา ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (ศคส.สพฉ.) ได้ตลอด 24 ชั่วโมง. หมายเลข 02-8721669 เมื่อโรงพยาบาลดำเนินการประเมินผู้ป่วยแล้ว จะแจ้งผลการประเมินให้กับผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยรับทราบผลการประเมิน หากผลการประเมินเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ผู้ป่วยสามารถเข้ารับบริการตามระบบ UCEP โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายภายใน 72 ชั่วโมงหรือพ้นภาวะวิกฤต กรณีผลการประเมินไม่เข้าเกณฑ์ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต หากต้องการรักษาที่โรงพยาบาลเดิม ผู้ป่วยต้องรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลเอง
  5. ในกรณีที่มีข้อถกเถียงเรื่องอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินว่าเข้าขั้นวิกฤตหรือไม่นั้นจะดำเนินการอย่างไร ในกรณีนี้ โรงพยาบาลเป็นผู้คัดแยกผู้ป่วยตามแนวทางทีสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกำหนด(Preauthorization)ในกรณีมีปัญหาในการคัดแยกให้ปรึกษา ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (ศคส.สพฉ.) ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
  6. รูปแบบการทำงานของ ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิ ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (ศคส.สพฉ.) ทำงานอย่างไร ประชาชนสามารถแจ้งเรื่องผ่านได้ทางไหน ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิ ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(ศคส.สพฉ.) มีการดำเนินงานดังนี้ ดำเนินการตรวจสอบประเมินความถูกต้องเหมาะสมในการPreauthorization และการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน ของโรงพยาบาลเอกชนเมื่อมีผู้ป่วยเข้าระบบ ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (ศคส.สพฉ.) จะแจ้งให้กองทุนเจ้าของสิทธิทราบโดยเร็ว เพื่อให้กองทุนเจ้าของสิทธิดำเนินการประสานไปยังโรงพยาบาลต้นสังกัดของผู้ป่วย ติดตามดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องจนพ้นภาวะวิกฤตจนสามารถย้ายไปโรงพยาบาลคู่สัญญากับกองทุนที่ผู้ป่วยมีสิทธิ กรณีมีข้อสงสัยเกี่ยวกับ ระบบคัดแยกความเจ็บป่วยฉุกเฉิน (Preauthorization)โดยสามารถ ติดต่อได้ที่ 02 872 1669
  7. หากมีข้อโต้แย้งเรื่องการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตจะใช้เวลานานหรือไม่ในการพิจารณาให้ผู้ป่วยได้รับการรักษา กรณีที่มีปัญหาการตัดสินการคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต. แพทย์ประจำศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ( ศคส.สพฉ.) ร่วมกับวิทยาลัยแพทย์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย จะประเมินภาวะฉุกเฉินของผู้ป่วยภายใน 15 นาที โดยคำวินิจฉัยของศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติให้ถือเป็นที่สุด
  8. เมื่อรักษาครบ 72 ชั่วโมงแล้ว กระบวนการขั้นตอนส่งต่อผู้ป่วยไปรับการรักษาต่อในโรงพยาบาลจะดำเนินการอย่างไร ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (ศคส.สพฉ.) รับทราบว่ามีผู้ป่วยวิกฤตเข้าระบบ เมื่อโรงพยาบาลเอกชนมีการประเมินและบันทึกการประเมินผู้ป่วยในระบบโปรแกรม Preauthorization และ ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (ศคส.สพฉ.) จะแจ้งต่อให้กองทุนเจ้าของสิทธิทราบโดยเร็ว เพื่อให้กองทุนเจ้าของสิทธิดำเนินการประสานไปยังโรงพยาบาลต้นสังกัดของผู้ป่วย เพื่อเตรียมการรับย้ายผู้ป่วยเข้าสู่ระบบปกติให้ได้ทันภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน เมื่อครบ 72 ชั่วโมงแล้วหรือพ้นภาวะวิกฤตแล้ว
  9. หากประสานไปยังโรงพยาบาลต้นทางที่ผู้ป่วยมีสิทธิในการรักษาพยาบาลอยู่แล้วรพ.แจ้งว่าไม่มีเตียงรองรับผู้ป่วย จะมีการดำเนินการเช่นไร และหากมีค่าใช้จ่ายใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายนั้น ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิ์ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (ศคส.สพฉ.) จะแจ้งไปยังกองทุนต่างๆเพื่อให้ดำเนินการตามเงื่อนไขของแต่ละกองทุน

ข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
6 กลุ่มผู้ป่วยวิกฤต รักษาฟรีทุกที่ 72 ชม. | 02-04-60 | ชัดทันข่าว เสาร์-อาทิตย์ : ไทยรัฐทีวี